การทำเว็บไซต์ในแต่ละครั้ง เราจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการสร้างเว็บไซต์ การเตรียมตัวจะช่วยให้การทำงานมีความลื่นไหล และช่วยให้ได้เว็บไซต์ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานและกลุ่มเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราขายสินค้าและบริการได้ แล้วหากอยากทำเว็บไซต์ ควรเตรียมตัวอย่างไร?
สารบัญ อยากทำเว็บไซต์ ควรเตรียมตัวอย่างไร?
1. ระบุลูกค้า / กลุ่มเป้าหมาย
1.1 กลุ่มเป็นหมายเป็นใคร?
1.2 กลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร?
2. วางแผนเว็บไซต์
2.1 เป้าหมายเว็บไซต์
2.2 รวบรวมข้อมูล
2.3 การจัดคอนเทนต์
3. เตรียมความพร้อม SEO
3.1 SEO คืออะไร?
3.2 Keywords research
4. Website copy
4.1 การเขียน Website copy
5. เตรียมรูปภาพและวิดีโอ
5.1 การเพิ่มประสิทธิภาพรูปภาพ
5.2 การเตรียมวิดีโอ
6. รวบรวมรายละเอียดอื่นๆ
1. ระบุลูกค้า / กลุ่มเป้าหมาย
การสร้างเว็บไซต์เพื่อดึงดูดลูกค้า ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องรู้ว่าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เพื่อจะได้วางแผนสร้างเว็บไซต์ที่สอดคล้องกับแผนการตลาด แต่เจ้าของธุรกิจหลายคนกลับมองข้ามขั้นตอนนี้ อย่างไรก็ตาม หากเราอยากขายสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์ เราก็ควรระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
1.1 กลุ่มเป็นหมายเป็นใคร?
การระบุกลุ่มเป้าหมาย เราควรเริ่มต้นจากการศึกษาลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่คิดว่าจะเป็นลูกค้า รายละเอียดที่เราควรรู้ เช่น อายุ เพศ ที่อยู่ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ และรายได้ เป็นต้น
นอกจากลักษณะเบื้องต้นของกลุ่มเป้าหมายแล้ว สิ่งที่เราควรทราบในลำดับต่อมาคือ ความชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหาสิ่งที่จะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของเรานั่นเอง และสิ่งที่เราควรทราบ ได้แก่
- งานอดิเรกและสิ่งที่สนใจ
- ร้านโปรด
- เว็บไซต์หรือบล็อกโปรด
- พอดแคสต์ที่ชื่นชอบ
- นิตยสารและหนังสือโปรด
- คนที่ติดตามในโลกออนไลน์และทำไมถึงชื่นชอบ
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ชื่นชอบ
1.2 กลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร?
ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นไปได้ เราควรรู้ข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ แล้วเราจะมีสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลดังต่อไปนี้
- สินค้าและบริการที่ควรปรับปรุง
- ต้องการความช่วยเหลือด้านใดหรือไม่?
- ต้องการผลลัพธ์อะไรจากสินค้าและบริการ
- ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสินค้าและบริการ
- เว็บไซต์ที่มักจะเข้าไปเยี่ยมชม
การจะรู้ถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เราจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับกลุ่มลูกค้าเก่า ในการทำแบบสำรวจผ่านทางอีเมล พูดคุยทางโทรศัพท์ หรืออาจจะถกถามกันผ่าน Facebook Page
2. วางแผนเว็บไซต์
เว็บไซต์ของเราจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และวางแผนว่าจะทำอย่างไร การทำความเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ให้ชัดเจน จะช่วยให้เราวางแผนเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น
2.1 เป้าหมายเว็บไซต์
การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับเว็บไซต์ จะช่วยในการจัดโครงสร้างของเว็บไซต์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และยังช่วยในการประเมินประสิทธิภาพของเว็บไซต์อีกด้วย
เป้าหมายเว็บไซต์ควรสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ เช่น หากเป้าหมายของเราคือการกระตุ้นยอดขาย เราจะต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายผ่านเว็บไซต์
ตอนที่เรากำลังตั้งเป้าหมายเว็บไซต์ เราต้องนึกถึง action ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ด้วย เช่น มีการนัดหมายการโทร, มีการจองคิว หรือซื้อสินค้าของเรา เป็นต้น
เป้าหมายข้างต้น เป็นเป้าหมายที่สามารถวัดได้ โดยการเปรียบเทียบผลลัพธ์เป็นรายเดือน หรือรายปี นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จับต้องไม่ได้ เช่น การสร้างความไว้วางใจ และการเพิ่มการรับรู้แบรนด์ สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ดีและควรคำนึงถึงเช่นกัน แต่ไม่มีวิธีในการวัดประสิทธิภาพอย่างเฉพาะเจาะจง
เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายเว็บไซต์ของเราคืออะไร สิ่งต่อไปที่เราควรจะทำคือ การหาเครื่องมือช่วยวิเคราะห์และประเมินเว็บไซต์ เช่น Google Analytics และ Goole Search Console เป็นต้น
2.2 รวบรวมข้อมูล
เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายเว็บไซต์ของเราคืออะไร ต่อไปเราก็จะต้องหาข้อมูลที่ต้องการรวมไว้ในเว็บไซต์ ข้อมูลที่เว็บไซต์ของเราควรมี มีดังต่อไปนี้
- ที่อยู่ธุรกิจ ที่อยู่อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์
- เวลาเปิดทำการ
- คุณสมบัติพิเศษของธุรกิจ
- ตัวอย่างผลงาน
- รีวิวจากลูกค้าหรือกรณีศึกษา
- ราคาสินค้าและบริการ
- รายการสินค้าและบริการ
- เกี่ยวกับเว็บไซต์
นอกจากนี้ คำถามที่ลูกค้าถามเป็นประจำ เราสามารถนำมาแสดงบนเว็บไซต์ได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจสินค้าและบริการของเรามากขึ้น
2.3 การจัดคอนเทนต์
หากผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ไม่พบข้อมูลที่ต้องการในเวลาอันสั้น พวกเขาก็จะออกจากเว็บไซต์ไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การจัดเรียงคอนเทนต์บนเว็บไซต์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจัดเรียงคอนเทนต์ที่ดี จะช่วยให้ผู้เข้าชมค้นหารายละเอียดที่ต้องการได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
3. เตรียมความพร้อม SEO
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราค้นหาข้อมูลบน Google เสิร์ชเอนจินนี้ก็จะแสดงคำตอบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราค้นหามากที่สุดและรวดเร็วที่สุด ดังนั้น เว็บไซต์ที่ติดหน้าแรกของ Google ก็จะเป็นเว็บไซต์ที่ Google วิเคราะห์มาแล้วว่าตอบคำถามของเราได้ดีที่สุดนั่นเอง
3.1 SEO คืออะไร?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า SEO ผ่านหูมาบ้าง แต่อาจจะไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร จริงๆ แล้ว SEO ย่อมาจาก "Search Engine Optimization" คือวิธีการตั้งค่าเว็บไซต์เพื่อให้ Google และเครื่องมือค้นหาอื่นๆ สามารถเห็นเว็บไซต์ได้ง่าย
การตั้งค่าเว็บไซต์ให้เสิร์ชเอนจินมองเห็นง่าย หรือการทำ SEO บนเว็บไซต์ สิ่งที่เราต้องรู้คือ คำค้นหา หรือ keywords ที่กลุ่มเป้าหมายของเราค้นหาใน Google
3.2 Keywords research
การทำ Keywords research จะช่วยให้ในเรื่องการวางแผนเขียนคอนเทนต์ เราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการนึกถึงคำที่ลูกค้าจะค้นหาสินค้าและบริการของเราบน Google เช่น หากสินค้าที่เราขายเป็นรองเท้าเซฟตี้ คำที่ลูกค้าใช้ค้นหาอาจจะเป็น รองเท้า safty รองเท้านิรภัย หรือ รองเท้าเซฟตี้
เมื่อเราได้ keywords แล้ว ให้เรานำ keywords ไปวิเคราะห์ว่าในหนึ่งเดือนมีคนค้นหาจำนวนมากน้อยเพียงใด จากนั้นนำ keywords ที่มีคนค้นหาจำนวนมากมาสร้างคอนเทนต์ เครื่องมือที่ใช้ในการค้นหาปริมาณการค้นหา และใช้งานฟรี เช่น Google Trends เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม SEO เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ส่วน Google ก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแสดงผลการค้นหาอยู่เสมอ และเว็บไซต์ของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การสร้างคอนเทนต์ดึงดูดลูกค้าจาก keywords เหล่านั้น อาจจะช่วยให้เราเริ่มต้นทำเว็บไซต์ได้อย่างถูกต้อง แต่หากต้องการทำ SEO อย่างต่อเนื่อง ก็ควรหมั่นตรวจสอบคุณภาพเว็บไซต์และ keywords อยู่เสมอ
4. Website copy
เมื่อเรารู้แล้วว่าเว็บไซต์ของเราเหมาะกับใคร แผนเว็บไซต์เป็นอย่างไร และใช้ keywords ใดบ้าง ขั้นตอนต่อไปคือการเขียนคำบนเว็บไซต์ หรือ website copy นั่นเอง โดยมีเคล็ดลับที่จะช่วยในการเขียน website copy ดังต่อไปนี้
- เตรียมเนื้อหาก่อนเริ่มออกแบบ ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดเวลาและทำงานได้ลื่นไหลมากขึ้น
- เตรียมเนื้อหาที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ใช้คำที่กลุ่มเป้าหมายของเราชอบใช้ นำเสนอเนื้อหาที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ และนำเสนอสิ่งที่เราจะสามารถช่วยแก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้
- ใช้ภาษาที่เรียบง่ายและชัดเจน เพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่าย อย่าลืมว่ากลุ่มเป้าหมายของเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะทาง เราจึงต้องสร้างเนื้อหาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายไว้ก่อน
- ตรวจสอบความถูกต้อง การสะกดคำและไวยากรณ์ที่ไม่ถูกต้องสามารถทำลายความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ได้ หลังจากที่เราตรวจสอบแล้ว เราก็อาจจะขอให้คนอื่นช่วยตรวจสอบให้อีกครั้ง เพราะอาจจะมีบางจุดที่เรามองข้ามไป
- ตรงประเด็น คนส่วนใหญ่มักจะอ่านเนื้อหาเว็บไซต์แบบเร่งรีบ หรือกวาดสายตาอ่านเฉพาะประเด็นหลักเท่านั้น ดังนั้น เราควรสร้างเนื้อหาที่สั้น กระชับ แต่ได้ใจความ ง่ายต่อการอ่าน
- จัดรูปแบบให้อ่านง่าย การจัดรูปแบบควรเน้นให้อ่านง่ายและเป็นมิตรกับสายตา ไม่ว่าจะเป็นหัวเรื่อง หัวข้อย่อย ลำดับเลข ข้อความตัวหนา ตัวเอียง ย่อหน้าสั้นๆ และแบ่งข้อความออกเป็นส่วนๆ
- ใส่ keywords เพื่อส่งเสริมการทำ SEO เราควรใส่ keywords ตลอดทั้ง website copy แต่ไม่จำเป็นต้องใส่มากจนเกินไป เน้นใส่ในตำแหน่งที่เหมาะสมก็เพียงพอ
4.1 การเขียน Website copy
หน้าหลัก (Home Page) โดยทั่วไปหน้าหลักของเราเป็นเหมือนตัวแทนของเว็บไซต์ ที่ช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับผู้เยี่ยมชม เราสามารถเริ่มต้นด้วยสโลแกนที่สื่อชัดเจนว่าเราทำอะไร และมีประโยชน์กับผู้เยี่ยมชมอย่างไร
เกี่ยวกับ (About Page) เป็นหน้าที่อธิบายว่าเราเป็นใคร ทำธุรกิจอะไร เพื่อใคร หน้านี้จะช่วยเราสร้างการเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย
สินค้าและบริการ (Services Page) เป็นหน้าที่ใช้แสดงสินค้าและบริการของเรา รวมถึงราคาและวิธีการสั่งซื้อ เราควรมีรูปภาพประกอบที่ชัดเจน สวยงาม เพื่อดึงดูดให้สินค้าและบริการดูน่าซื้อ
ติดต่อ (Contact Page) หน้านี้ช่วยให้ผู้เยี่ยมชมสามารถติดต่อกับเราได้หากมีคำถามเพิ่มเติม เราควรมีแบบฟอร์มการติดต่อเพื่อช่วยให้ผู้เยี่ยมชมติดต่อเราได้ โดยทั่วไปเราควรทำเนื้อหาให้สั้นและตรงประเด็น แต่ต้องครอบคลุมทุกคำถาม เพื่อเลี่ยงการส่งอีเมลไปมา
บล็อก (Blog Page) การเขียนบล็อกเป็นหนึ่งในวิธีในการดึงดูดผู้เยี่ยมชมรายใหม่ๆ มายังเว็บไซต์ กระตุ้นให้ผู้คนกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์อีกครั้ง เป็นส่วนที่ช่วยแสดงความเชี่ยวชาญของเรา ทั้งยังช่วยให้เราถูกค้นพบใน Google
รีวิวจากผู้ใช้ (Testimonials) คนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการตามคนรู้จัก ดังนั้น การสร้างหน้ารีวิวจากผู้ใช้ เพื่อแชร์ประสบการณ์ที่ได้รับจากเว็บไซต์ จะช่วยให้เว็บไซต์ของเราดูน่าเชื่อถือมากขึ้น
หน้าเพิ่มเติม (Additional Pages) บางทีเว็บไซต์ของเราอาจจะต้องมีหน้าอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เว็บไซต์แสดงข้อมูลได้ครบถ้วนมากขึ้น ตัวอย่างหน้าเพิ่มเติม ได้แก่
- แฟ้มผลงานหรือหน้าแกลเลอรี่
- แหล่งข้อมูลของสินค้าและบริการ
- ปฏิทินกิจกรรม
5. เตรียมรูปภาพและวิดีโอ
รูปภาพและวิดีโอเป็นการสื่อสารทางสายตา และสามารถช่วยเราเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายในแบบที่คำพูดไม่สามารถทำได้ รูปภาพที่เราควรเตรียมสำหรับเว็บไซต์ ได้แก่ รูปภาพแบนเนอร์ รูปภาพพื้นหลัง รูปภาพที่แสดงถึงสิ่งที่เราทำ รูปภาพของเราและพนักงาน รูปภาพสินค้า ฯลฯ
5.1 การเพิ่มประสิทธิภาพรูปภาพ
- ปรับขนาดรูปภาพให้เหมาะกับพื้นที่ เช่น หากเราต้องการแสดงภาพเต็มความกว้างของเว็บไซต์ ภาพก็ควรมีขนาดความกว้าง 2000px หรือหากต้องการแสดงภาพครึ่งจอ รูปภาพที่ใช้ก็ควรมีความกว้าง 1,000px เป็นต้น
- บันทึกรูปภาพเป็น JPEG หลีกเลี่ยง PNG เนื่องจาก PNG มีขนาดไฟล์ที่ใหญ่
- รูปภาพของเราควรมีขนาดไฟล์น้อยกว่า 500kb แต่ถ้าเราสามารถใช้ภาพที่มีขนาดต่ำกว่า 100kb ได้ก็ยิ่งดี
- เปลี่ยนชื่อรูปภาพก่อนอัปโหลดบนเว็บไซต์ เพราะ Google ไม่สามารถเข้าใจรูปภาพได้ ดังนั้นควรใส่ชื่อรูปภาพให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อ โดยเป็นชื่อที่ keywords รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้ Google มองเห็นรูปภาพของเราได้ง่ายขึ้น
5.2 การเตรียมวิดีโอ
การมีวิดีโอบนเว็บไซต์จะช่วยดึงดูดผู้เยี่ยมชมได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ผู้เยี่ยมชมอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น และกระตุ้นให้มีการค้นหาบนเว็บไซต์มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับ SEO ไม่น้อย หากต้องการแสดงวิดีโอบนเว็บไซต์ เราควรอัปโหลดวิดีโอดังกล่าวลงบน YouTube จากนั้นคัดลอกลิงก์มาวางที่เว็บไซต์
6. รวบรวมรายละเอียดอื่นๆ
นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการทำเว็บไซต์ และต่อไปนี้คือรายละเอียดที่เราต้องรวบรวมและบันทึกพร้อมกับเนื้อหาเว็บไซต์
- อีเมล
- ลิงก์โซเชียลมีเดียทั้งหมดของเรา
- ชื่อโดเมนและรายละเอียดการเข้าสู่ระบบ
- ข้อมูลทางกฎหมายของเว็บไซต์ เช่น ข้อกำหนดและเงื่อนไข และนโยบายความเป็นส่วนตัว เป็นต้น
ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะกำหนดให้เราต้องมีนโยบายความเป็นส่วนตัวที่แสดงให้เห็นว่าเราจัดการกับข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าและผู้เยี่ยมชมอย่างไร
นอกจากนี้เรายังต้องมีข้อกำหนดและเงื่อนไขของเว็บไซต์ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้เยี่ยมชมสามารถใช้เว็บไซต์ของเราได้อย่างไร เพื่อช่วยปกป้องเรากรณีที่ผู้เยี่ยมชมทำอะไรผิดพลาดกับเว็บไซต์
สรุปแล้ว การทำเว็บไซต์ สิ่งที่เราควรเตรียมพร้อม ประกอบด้วย ระบุกลุ่มเป้าหมาย, วางแผนเว็บไซต์, เตรียมความพร้อม SEO, Website copy, เตรียมรูปภาพและวิดีโอ และรวบรวมรายละเอียดอื่นๆ โดยการเตรียมความพร้อมก่อนทำเว็บไซต์ จะช่วยให้เราได้เว็บไซต์ที่ตรงตามความต้องการ และมีประโยชน์กับธุรกิจมากที่สุดนั่นเอง
อ้างอิง: jessicahainesdesign.com
---Wynnsoft Solution รับทำเว็บไซต์ รับทำ SEO รับทำการตลาดออนไลน์ รับทำโฆษณา Facebook รับทำเว็บไซต์ ขอนแก่น และรับทำเว็บไซต์ทั่วประเทศ---